แชร์โพสนี้

นักสถิติเกาหลีใต้มีความห่วงกังวลต่อแนวนิยมที่กำลังมาแรงในสังคมเกาหลี นั่นคือ การเพิ่มขึ้นของครัวเรือนที่มีสมาชิกคนเดียว (One-person Household) หรือพูดง่ายๆคือ ครองตัวเป็นโสด ไม่สร้างครอบครัว พบว่าจนถึงปลายปีที่ผ่านมา ครัวเรือนที่มีสมาชิกคนเดียวในเกาหลีใต้ มีถึง 5.398 ล้านครัวเรือน คิดเป็น 27.9 เปอร์เซ็นต์ของครัวเรือนทั้งหมด

แนวโน้มดังกล่าว ถือเป็นข่าวร้ายสำหรับเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นประเทศที่ผู้หญิงมีอัตราการมีบุตรต่ำระดับต้นๆของโลก อยู่ที่ 1.21 เปอร์เซ็นต์ หรือต่ำกว่าระดับที่มีการชดเชยประชากร ซึ่งอยู่ที่ 2.1 เปอร์เซ็นต์

แต่ข้อดีของกลุ่มคนที่อยู่ตัวคนเดียวคือ เป็นกลุ่มที่มีการบริโภคสูง ช่วยขับเคลื่อนความต้องการภายในประเทศ และทำให้จีดีพีสูง เป็นกลุ่มที่มีรายได้สูง โดย 40 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มคนที่อยู่ตัวคนเดียว หรือประมาณ 2 ล้านคน มีรายได้ต่อปีถึง 36 ล้านวอน หรือเกิน 31,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ และคาดว่าภายในปี 2030 กลุ่มนี้จะใช้จ่ายถึง 194 ล้านล้านวอน หรือประมาณ 1700 ล้านดอลลาร์ หรือเกือบ 1 ใน 5 ของการบริโภคในประเทศ

ศาสตราจารย์ Lee Jun-young จากมหาวิทยาลัย Sangmyong กล่าวว่า คนที่อยู่คนเดียวใช้จ่ายเพื่อตัวเอง และชอบบริโภคสินค้าหรูหราฟุ่มเฟือย แต่ก็ต้องแลกด้วยการไม่แต่งงาน หรือมีลูก บางคนก็ปลีกตัวจากกิจกรรมทางสังคมอื่นๆ เพราะไม่มีเวลา

ผลสำรวจพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามเกือบ 70 เปอร์เซ็นต์ ชอบอยู่ตัวคนเดียว เพราะกลัวความลำบากในการหางานทำ หรือได้เงินเดือนต่ำ กลัวสินค้าราคาแพง และกลัวค่าใช้จ่ายสูงจากการจัดงานแต่งงาน

รัฐบาลเกาหลีใต้ เป็นห่วงแนวนิยมการอยู่ตัวคนเดียว เพราะเกาหลีใต้กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยขณะนี้มีคนอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปเกิน 7.257 ล้านคน หรือประมาณ 14.02 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งประเทศ

ในขณะที่ประชากรวัยทำงานเริ่มจะหดตัวในปีนี้ จนอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และค่าใช้จ่ายเลี้ยงผู้สูงอายุที่สูงขึ้นเรื่อยๆ