แชร์โพสนี้
สถานการณ์ล่าสุด เกี่ยวกับแคว้นกาตาลุญญาของสเปน ซึ่งจะมีการทำประชามติวันนี้ เพื่อแยกตัวเป็นเอกราชจากสเปน สิ่งที่ต้องจับตาคือ การปิดล้อมคูหาเลือกตั้งจะนำไปสู่การใช้กำลังหรือไม่ และการทำประชามติจะสำเร็จหรือไม่
สำหรับบรรยากาศในกาตาลุญญา ขณะนี้ (30 ก.ย. 60) มีโรงเรียนกว่า 160 แห่งที่นักรณรงค์ซึ่งสนับสนุนการทำประชามติแยกตัว พากันไปปักหลักค้างคืน เพื่อให้แน่ใจว่าวันนี้จะสามารถเปิดคูหาเลือกตั้งได้ โดยคาดว่าจะมีประชาชนหลายแสนคน พยายามไปลงคะแนน
อย่างไรก็ตาม ทางรัฐบาลกลางสเปน ได้ส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ เข้าประจำการตามโรงเรียน ที่จะถูกใช้เป็นคูหาเลือกตั้งเช่นกัน โดยมีประมาณ 1 พันกว่าแห่ง ซึ่งตำรวจเหล่านี้ ได้รับคำสั่งให้ยับยั้งการทำประชามติ และจับกุมผู้ที่ขัดขืนได้ นอกจากนี้ ตำรวจยังได้เข้าควบคุมศูนย์โทรคมนาคมของแคว้นด้วย
แต่นอกจากผู้ที่สนับสนุนการแยกตัวของแคว้นกาตาลุญญาแล้ว ผู้ที่ไม่เห็นด้วยก็มี ซึ่งเมื่อวานนี้ในเมืองบาร์เซโลนา มีคนออกมาเดินขบวน โบกธงชาติสเปน พร้อมกับถือป้ายที่เขียนว่า “กาตาลุญญาก็คือสเปน”
สำหรับการโหวตครั้งนี้เป็นที่ถกเถียงกันมาก แต่ตามกฎหมายแล้ว จะไม่มีผลใดๆ ทั้งสิ้น เรื่องจากศาลรัฐธรรมนูญสเปน ได้มีมติให้ยับยั้งการทำประชามติในวันนี้ไปแล้ว และตามรัฐธรรมนูญปี 1978 ก็ยังเขียนไว้ชัดเจนด้วย
กาตาลุญญา มีประชากรประมาณ 7 ล้าน 5 แสนคน อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของสเปน ติดกับฝรั่งเศส และมีวัฒนธรรม รวมถึงภาษาของตัวเอง ซึ่งแม้ว่าจะมีรัฐบาลท้องถิ่น และมีอิสระในการตัดสินใจในด้านการบริหารพอสมควร แต่ภายใต้รัฐธรรมนูญสเปน ไม่นับว่าเป็นประเทศแยกต่างหาก
อย่างไรก็ตาม เมื่อช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประชาชนในแถบนี้ เริ่มมีความรู้สึกอยากแยกตัวจากสเปนมากขึ้น โดยสาเหตุหนึ่ง เป็นเพราะไม่พอใจมาตรการรัดเข็มขัดของรัฐบาลกลาง
ล่าสุด (2 ต.ค. 60) โฆษกประจำรัฐบาลกาตาลุญญา เผยผลการนับคะแนนเบื้องต้น พบว่า ร้อยละ 90 โหวต Yes เห็นชอบให้แคว้นกาตาลุญญา แยกตัวเป็นเอกราชจากสเปน การลงประชามติครั้งนี้ ชาวกาตาลันออกไปใช้สิทธิ์ ร้อยละ 42.3 หรือประมาณ 2.26 ล้านคน จากผู้ลงทะเบียนทั้งหมด 5.34 ล้านคน ทางด้านประธานาธิบดี ปูดจ์ดาโมนต์ ผู้นำกาตาลุญญา แถลงแสดงความยินดีกับผลลงประชามติเบื้องต้น ซึ่งพลเมืองชาวกาตาลันมีสิทธิ์ประกาศเป็นรัฐเอกราชจากสเปน โดยขั้นตอนต่อไปคือ ส่งผลการลงประชามติไปยังที่ประชุมรัฐสภาเพื่อดำเนินการประกาศเอกราชตามกฎหมายใน 2-3 วันข้างหน้า อย่างไรก็ตาม นายมาเรียโน่ ราฮอย นายกรัฐมนตรีสเปน ยืนกรานว่า ไม่ยอมรับกระบวนการลงประชามติของชาวกาตาลุญญา เนื่องจากเป็นกระบวนการที่ผิดกฎหมาย แต่พร้อมที่จะเจรจาหาทางออกกับกาตาลุญญาอย่างจริงใจ