แชร์โพสนี้
สหภาพยุโรป (EU) ชี้ การที่สกอตแลนด์ต้องการแยกตัวออกจากสหราชอาณาจักรเป็นประเทศเอกราช ไม่ได้หมายความว่าจะมีสิทธิ์กลับเข้ามาเป็นสมาชิก อียูโดยอัตโนมัติ
เมื่อวานนี้ นางนิโคลา สเตอร์เจียน นายกรัฐมนตรีสกอตแลนด์ แถลงว่า ในสัปดาห์หน้ารัฐบาลมีแผนจะขอความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรสกอตแลนด์ในการจัดลงประชามติให้ประเทศแยกตัวออกจากสหราชอาณาจักร และจะขอปรึกษาขอความเห็นชอบจากรัฐสภาอังกฤษเป็นลำดับต่อไป การจัดลงประมติดังกล่าวเรียกว่า Section 30 โดยการขอความเห็นจากฝ่ายต่างๆ นั้นเป็นไปเพื่อให้ผลประชามติมีผลผูกพันตามกฎหมาย และนำไปบังคับใช้ได้
การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชาวสกอตแลนด์ และเพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับประชาชนว่า ต้องการ “ฮาร์ดเบร็กซิต” ในเเบบฉบับที่นายกรัฐมนตรีเธเรซา เมย์ ของอังกฤษกำลังดำเนินการอยู่ หรือต้องการให้ประเทศเป็นเอกราช เพราะในการลงประชามติเมื่อปีที่แล้วหากดูผลเฉพาะของสกอตแลนด์จะพบว่ามีประชาชนกว่าร้อยละ 60 ที่ไม่ต้องการเบร็กซิต แม้ว่าภาพรวมทั้งสหราชอาณาจักรจะต้องการแยกตัวก็ตาม
ทั้งนี้ เมื่อผลประชามติออกมาว่าต้องดำเนินการเบร็กซิตต่อไป ทางสกอตแลนด์เองได้เสนอต่อสหราชอาณาจักรว่าไม่ต้องการออกจากตลาดร่วมยุโรป เพราะอาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อสิทธิแรงงานและเศรษฐกิจ ซึ่งนางเมย์ก็รับปากจะดำเนินการตามข้อเสนอนี้ แต่แล้วแผนการออกจากอียูกลับไม่เป็นตามข้อเสนอข้างต้น ทำให้สกอตแลนด์ไม่เห็นด้วย และต้องการจัดลงประชามติออกจากสหราชอาณาจักร
หลังมีการเผยแพร่ถ้อยแถลงของนางสเตอร์เจียน โฆษกคณะกรรมาธิการยุโรปที่ร่วมการประชุมสุดยอดที่เบลเยียมระบุว่า การที่สกอตแลนด์เป็นเอกราช ไม่ได้หมายความว่า จะสามารถกลับเข้ามาเป็นสมาชิกอียูอีกครั้งโดยอัตโนมัติ แต่ต้องดำเนินการขอเข้าเป็นสมาชิกใหม่ทั้งหมดเช่นเดียวกับหลายประเทศที่รอต่อคิวเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอียู เช่น สเปน โคโซโว อีกทั้งสกอตแลนด์จะไม่มีผลผูกพันใดๆ กับสนธิสัญญาต่างๆ ของอียูอีกต่อไปด้วย
นายเยนส์ สตูลเทนแบร์ก เลขาธิการองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ นาโต้ กล่าวเช่นกันว่า เมื่อสกอตแลนด์ออกจากสหราชอาณาจักรแล้ว การกลับเข้ามาเป็นสมาชิกนาโต้ก็ต้องเริ่มต้นใหม่ทั้งหมด