แชร์โพสนี้
มีรายงานที่น่าตกใจว่า น้ำแข็งในทะเลแบริ่งกำลังหดหายไปอย่างรวดเร็ว ถือเป็นข่าวร้ายสำหรับชุมชนชาวพื้นเมือง สัตว์ทะเล รวมถึงไปถึงอุตสาหกรรมประมงในทะเลแบริ่ง แต่นักวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถระบุแน่ชัดถึงสาเหตุ
ScienceMag วารสารวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา รายงานว่า น้ำแข็งช่วงปลายฤดูหนาวของทะเลแบริ่ง ลดปริมาณลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 40 ปี รายงานระบุว่า ในเดือนมีนาคมของทุกปี น้ำแข็งทะเลจะแผ่ขยายจากทางตอนใต้ของทะเลแบริ่ง ไปถึงบริเวณรอบหมู่เกาะ Aleutian แต่ในปี 2018 มันแผ่ขยายไปถึงแค่รัฐอะแลสก้าเท่านั้น / น้ำแข็งที่หดหายไปอย่างรวดเร็วนี้อาจเกิดจากทิศทางลมและอุณหภูมิของน้ำทะเล ซึ่ง ScienceMag อธิบายว่า สาเหตุหนึ่งอาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก ทำให้กระแสลมกรดขั้วโลก หรือ Polar Jet Stream เปลี่ยนไป และพัดพาลมที่อุ่นกว่ามายังทะเลแบริ่ง ส่งผลให้น้ำแข็งหายไป
ขณะที่นาย Seth Danielson นักสมุทรศาสตร์ชี้ว่า น้ำแข็งอาจหายไปเพราะอุณหภูมิในทะเลแบริ่งเพิ่มสูงขึ้น ข้อมูลที่รวบรวมได้ช่วงต้นปี 2018 ชี้ว่า ทะเลอุ่นกว่าปกติ 2 องศา และส่งผลให้เกิดน้ำแข็งช้าลง 3 สัปดาห์ ส่วนอีกสาเหตุหนึ่ง อาจเกิดจากมีน้ำแข็งปกคลุมทะเลน้อยลงตั้งแต่ปี 2017 เนื่องจากความร้อน
น้ำแข็งทะเลที่หายไปในปี 2018 ส่งผลกระทบต่อสัตว์ทะเลและระบบนิเวศวิทยาในพื้นที่ โดยส่งผลต่อประชากรแพลงก์ตอนสัตว์, สาหร่าย, ปลาและนกทะเล
อุณหภูมิที่เปลี่ยนไปยังส่งผลต่ออุตสาหกรรมประมงของชาวอเมริกา ทางตะวันออกเฉียงใต้ของทะเลแบริ่งด้วย โดยถ้าน้ำแข็งทะเลยังลดลงอย่างต่อเนื่อง โรงงานปลาที่อยู่ทางเหนือ ก็อาจจะอยู่ไกลจากแหล่งประมงเกินไป และทำให้ต้นทุนขนส่งแพงขึ้น