แชร์โพสนี้
รัฐมนตรีกระทรวงความปลอดภัยแห่งสาธารณะของแคนาดา ชี้การเข้าถึงวิธีการผลิตปืน โดยใช้เครื่องปรินต์ 3 มิติ กำลังทำให้การบังคับใช้กฎหมายทั่วโลกถูกวิจารณ์ ด้าน The Washing Post แจงว่ามีความกังวลอะไรบ้างที่เกิดขึ้นจากการผลิตปืนพลาสติกรูปแบบนี้ ขณะที่ NBC News รายงานความเห็นต่างเรื่องการครอบครองปืนในสหรัฐฯ โดยสมาคมไรเฟิลแห่งชาติ (NRA) ไม่เห็นด้วยกับการระงับการเผยแพร่พิมพ์เขียวผลิตปืนจากเครื่องปรินต์ 3 มิติ
กลายเป็นข้อถกเถียงในวงกว้างทั่วสังคมสหรัฐฯ อีกครั้ง เมื่อศาลในเมือง Seattle มีคำสั่งระงับการเผยแพร่ Blueprint หรือ พิมพ์เขียว (แบบแปลน) การประดิษฐ์ปืน ด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ให้ดาวน์โหลดแบบฟรีๆ ชั่วคราวซึ่งจะมีการเผยแพร่ โดยบริษัท Defence Distributed ในวันที่ 1 สิงหาคมตามเวลาท้องถิ่น
โดยเป็นการออกคำสั่ง ระงับการเผยแพร่ในช่วงโค้งสุดท้าย ด้วยเหตุผลที่ว่า พิมพ์เขียวดังกล่าว มีความเสี่ยงในการควบคุมอาวุธปืนภายในประเทศ อีกทั้งยังอาจเป็นสาเหตุ ให้เกิดอันตรายได้โดยไม่คาดคิด รายงานระบุว่า ปืนที่ผลิตตามพิมพ์เขียว ใช้การประดิษฐ์ด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ เพียง 2-3 ชั่วโมง ก็ได้อาวุธปืนตามต้นแบบ โดยไม่ต้องนำปืนไปขึ้นทะเบียนอาวุธ นอกจากนั้น พิมพ์เขียวบางแบบ ยังสามารถใช้เพียงวัสดุพลาสติก หรือ เซรามิกในการผลิต ทำให้อาวุธที่ได้ออกมา ไม่สามารถตรวจพบได้ ด้วยเครื่องตรวจจับโลหะ ทำให้สร้างความกังวลให้ผู้ที่ไม่เห็นด้วย เนื่องจากเกรงว่า”ปืนเถื่อน”รูปแบบนี้ จะแพร่หลายในสังคม จนยากจะควบคุม
รวมถึง นาย ราล์ฟ กูเดล รัฐมนตรีกระทรวงปลอดภัยแห่งสาธารณะ ของแคนาดา ที่ออกมาวิจารณ์ในประเด็นเดียวกัน โดยระบุว่า การเข้าถึงวิธีการผลิตปืน ด้วยเครื่องพิมพ์แบบ 3 มิติ ของชาวอเมริกัน ทำให้การบังคับใช้กฎหมายทั่วโลกถูกวิจารณ์
ซึ่งหากมีการลักลอบผลิต หรือ นำเข้า มาในแคนาดา ทางรัฐบาลจะถือว่า ผู้ครอบครองมีความผิด ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองปืนของประเทศ ในข้อหามีปืนที่ไม่มีใบอนุญาต และ ไม่ลงทะเบียนผู้ครอบครองปืน
ส่วนด้านประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ออกมาระบุ ผ่านทวิตเตอร์ว่า ได้หารือเรื่องนี้ กับสมาคมปืนไรเฟิลแห่งชาติ (NRA) ซึ่งเป็นกลุ่มพิทักษ์ การค้าอาวุธปืนรายใหญ่ ที่สุดของประเทศ (ล็อบบี้ยิสต์) เกี่ยวกับประเด็นนี้แล้ว แต่ไม่ค่อยได้ความคืบหน้ามากนัก
โดยโพสต์ในลักษณะดังกล่าว ส่งผลให้ ทรัมป์ ถูกโจมตีไม่น้อยถึงการไม่ยอมแสดงท่าทีที่ชัดเจน ต่อการจัดการปัญหาและ ความขัดแย้ง จากความเห็นต่างที่เกิดขึ้น
ส่วนสาเหตุที่ สมาคมปืนไรเฟิลแห่งชาติ (NRA) เป็นกลุ่มหลักที่ยังคงสนับสนุน การมีอาวุธปืนในสหรัฐฯ เป็นเพราะยังคงต้องการทำรายได้ จากผู้มีความต้องการครอบครองอาวุธปืน
ซึ่ง Harley Rouda นักการเมืองสังกัดพรรค เดโมแครต ซึ่งมีแนวคิดหนุนการควบคุมอาวุธปืน กลับวิจารณ์ว่า ท่าทีของทรัมป์ ที่ต้องการเจรจาเรื่อง ปัญหาการครอบครองอาวุธปืน กับทางสมาคมฯ นั้น เสี่ยงต่อการทำให้รัฐบาล ถูกถูกวิจารณ์จากประชาชนอย่างหนัก
นอกจากนี้ นาย Harley ยังแสดงความเห็นด้วยว่า การกำหนดให้ปืนทุกกระบอก ได้รับการจดทะเบียน และมีเลข Serial Number ยังคงมีความสำคัญอยู่ เพราะเป็นหนึ่งในหลักฐานที่สำคัญ ที่ช่วยหาเบาะเเสคนร้าย
สังเกตได้จากสถิติที่ผ่านมา เคยมีการใช้เลข Serial Number ค้นหาตัวกลุ่มอาชญากรมาแล้ว ได้มากถึง 4 แสนครั้ง ดังนั้น การควบคุม หรือ การผลิตปืนเถื่อน จากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ จึงยังเป็นประเด็น ที่รัฐบาลไม่ควรละเลย
ขณะที่ ผู้สนับสนุนกฎหมายควบคุมอาวุธปืน อีกรายหนึ่ง ให้สัมภาษณ์กับ The Washington Post ว่า ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี จะทำให้ปืนที่ผลิตด้วยเครื่องปรินต์ 3 มิติ มีความสมบูรณ์แบบ ทนทาน และ ทำงานได้ง่ายขึ้น ที่สำคัญยังมีกลุ่มคนในสหรัฐฯ อีกมาก ที่พร้อมสนับสนุน ให้การครอบครองอาวุธปืน เป็นเรื่องเสรี ดังนั้น จึงควรหันกลับมามองว่ากฎหมายที่บังคับใช้อยู่ มีความครอบคลุมบรรดาเทคโนโลยี ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว หรือยัง
อย่างไรก็ตาม ศาลเมือง Seattle มีกำหนดที่จะพิจารณาคดีนี้อีกครั้ง ในวันที่ 10 สิงหาคมนี้ ทำให้ต้องติดตามต่อไปว่า จะเกิดการเปลี่ยนแปลง หรือ ส่งผลกระทบต่อกฎหมายควบคุมปืนในสหรัฐฯ ต่อไปอย่างไร