แชร์โพสนี้

แพทย์ในรัฐควิเบก ของแคนาดา รวมตัวประท้วงกรณีการขึ้นเงินเดือนให้กับกลุ่มของตน เนื่องจากรู้สึกลำบากใจ (ละอายใจ) ที่ได้รับรายได้สูงกว่าเพื่อนร่วมงานในสายอาชีพด้านสาธารณะสุขอื่นๆ โดยพวกเขาต้องการให้รายได้ที่เพิ่มขึ้นหมุนเวียนกลับไปใช้จ่ายสู่ระบบสาธารณะสุขมากกว่า

ปฏิเสธไม่ได้ว่า สายวิชาชีพแพทย์ เป็นสายงานที่ต้องใช้ความรู้ ความเชี่ยวชาญ และเทคนิคเฉพาะด้าน ในการทำงาน จึงทำให้บุคลากรในกลุ่มวิชาชีพนี้ ได้รับค่าตอบแทนในระดับสูง แต่ล่าสุด มีแพทย์กลุ่มหนึ่งในแคนาดา ออกมาเคลื่อนไหว แสดงความเห็นต่างในประเด็นนี้ 

โดยแพทย์จำนวน 648 ราย ในเมือง มอนทรีออล (Montreal) และเมืองอื่นๆ ของรัฐควิเบก (Quebec) ประเทศเเคนาดา ได้รวมตัวกันลงนามในจดหมาย เกี่ยวกับการจัดระเบียบเรื่องรายได้ ของบุคลากรในสายวิชาชีพแพทย์ เพื่อนำยื่นต่อสมาคมวิชาชีพของรัฐ 

ซึ่งเป้าหมายของการเรียกร้อง คือ ต้องการให้การมีการยกเลิก สิทธิประประโยชน์ ที่แพทย์จะได้รับรายได้เพิ่มขึ้นอย่างไม่สมเหตุสมผล พร้อมเรียกร้องให้มีการนำจำนวนเงินในส่วนนี้ ไปจัดสรรอย่างเป็นธรรม ให้แก่บุคลากรคนอื่นๆ ในสายงานด้านสาธารณสุข ตลอดจนนำไปพัฒนาระบบให้บริการด้านสุขภาพแก่ประชาชนในรัฐ ให้มีคุณภาพมากขึ้น 

โดยเนื้อความในจดหมาย วิจารณ์ด้วยว่า ระบบสาธารณสุขของรัฐ ในช่วงที่ผ่านมา ยังคงขาดความสมดุลในแง่ของการให้บริการ เนื่องจากไม่สามารถเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกระดับชั้น เข้าถึงการใช้บริการทางการแพทย์ ได้อย่างเท่าเทียม 

ขณะที่ บุคลากรคนอื่นๆ เช่น พยาบาล และพนักงานทั่วไปในแวดวงสาธารณสุข กลับไม่ค่อยมีโอกาสได้รับสิทธิประโยชน์ในการเพิ่มค่าตอบแทน ทั้งๆ ที่ทำงานหนัก และรอบด้าน มากกว่าแพทย์เสียด้วยซ้ำ ทำให้แพทย์หลายราย รู้สึกลำบากใจที่ยังคงได้รับรายได้สูงกว่า  

จากรายงานข้อมูล สถาบันสุขภาพแห่งแคนาดา ปีที่แล้ว ระบุว่า อัตรารายได้เฉลี่ยต่อปีของแพทย์ ในรัฐควิเบก อยู่ที่ราว 325,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ โดยศัลยแพทย์จะได้รับค่าตอบแทนสูงขึ้น คือ 381,000 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน จะได้ถึง 456,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นอัตรารายได้ที่สูงกว่าแพทย์ในรัฐอื่นๆ 

แพทย์ผู้ลงนาม ในจดหมาย จึงหวังว่า การออกมาเคลื่อนไหวครั้งนี้ จะมีส่วนช่วยให้เพื่อนร่วมวิชาชีพคนอื่นๆ มีโอกาสได้ยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น และคุ้มค่ากับแรงกายที่ทุ่มเทลงไปกับการทำงาน ท่ามกลางสถานการณ์ด้านสาธารณสุข และการดูแลสุขภาพของรัฐควิเบก และทั่วประเทศ ในยุคปัจจุบัน ที่มีความเสื่อมถอยลงอย่างมาก

ความเห็นของเเพทย์กลุ่มนี้ สอดคล้องกับผลการศึกษา เรื่องความยั่งยืนของระบบสาธารณสุข ที่ทางสำนักข่าว CBC รายงาน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า สภาพแวดล้อมหลายด้าน โดยเฉพาะ การลงทุนในทุกๆ ภาคส่วนของประเทศน้อยลง เนื่องจาก สภาพเศรษฐกิจในยุคปัจจบันที่ไม่คล่องตัว ส่งผลให้เงินทุนสนับสนุน เพื่อการศึกษาด้านการแพทย์ และการพัฒนาบริการระบบดูแลสุขภาพ น้อยลงตามไปด้วย 

ผลกระทบจากปัจจัยเหล่านี้ ทำให้ความรู้ด้านการแพทย์ และการรักษาโรคในแคนาดา ยังไม่พัฒนาไปไกลเท่าที่ควร สวนทางกับความต้องการใช้บริการของประชาชน ที่ต้องอาศัยความรู้ที่หลากหลาย และความสามารถเฉพาะด้าน ในการรักษาร่างกาย 

โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขแคนาดา กล่าวด้วยว่า ผลการศึกษาที่ออกมา ถือว่าไม่ใช่เรื่องใหม่ของวงการแพทย์ แต่ที่ยังคงถูกหยิบยกขึ้นมาพูดอย่างต่อเนื่อง อาจเป็นเพราะ ที่ผ่านมาไม่มีฝ่ายใดออกมานำทางแก้ไขปัญหา อย่างจริงจรัง 

พร้อมยังเรียกร้องให้รัฐบาล ออกมาแสดงความรับผิดชอบ ในการก้าวข้ามผ่านปัญหานี้ เพื่อสร้างความเท่าเทียมของประชาชนผู้รับบริการทางการแพทย์ รวมถึงความเท่าเทียมในกลุ่มบุคลากร ที่ทำหน้าที่ให้บริการเอง ซึ่งจะทำให้ต่อยอดไปสู่การพัฒนาด้านการแพทย์ในประเทศ ให้ก้าวไกลยิ่งกว่าเดิม 

โลกยามเช้า

ต้อนรับอรุณรุ่งของวันใหม่ กับ โลกยามเช้า และโลกยามเช้าสุดสัปดาห์ อัพเดทข่าวสารจากต่างประเทศก่อนใคร และสาระความรู้ ความบันเทิง จากทั่วทุกมุมโลก

  • วันออกอากาศ  จ-ศ เวลา 04.00 – 04.25น.
  • วันออกอากาศ  ส-อา เวลา 05.10-05.35น.
  • ช่อง 3HD ช่อง 33