แชร์โพสนี้
ออสเตรเลียเริ่มนำหุ่นยนต์มาช่วยบำบัดคนไข้ที่มีอาการสมองเสื่อม และกำลังทดลองใช้แว่นตา VR ให้คนไข้มีความรู้สึกเสมือนมีส่วนร่วมกับโลกภายนอกมากขึ้น
โดยทั่วไปผู้ป่วยที่มีอาการสมองเสื่อมมักจะปลีกตัวออกจากสังคม ไม่ชอบติดต่อสุงสิง หรือทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่น สถานบำบัดและดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม ไบรท์วอเตอร์ เมดลีย์ ในเมืองเพิร์ธ จึงได้นำอลิซ หุ่นยนต์สีขาวขนาดเล็กที่สามารถเต้นรำ ร้องเพลง และสร้างกิจกรรมบันเทิงต่างๆ เข้ามาใช้ ซึ่งหุ่นยนต์อลิซถูกตั้งโปรแกรมให้มีคุณสมบัติพิเศษในการเป็นเพื่อนพูดคุย สร้างความบันเทิงให้แก่ผู้ป่วยได้ เพื่อให้ผู้ป่วยมีทักษะในการติดต่อสื่อสารทางสังคม โดยใช้หุ่นยนต์เป็นตัวแทน ซึ่งเด็บบี้ เดอ ฟิดเดส ผู้อำนวยการและผู้เชี่ยวชาญของสถานบำบัดเชื่อว่า เทคโนโลยีและความบันเทิงเป็นวิธีการที่มีประโยชน์ในการบำบัดผู้ป่วย
ขณะเดียวกัน สถานบำบัดอื่นๆ ในเมืองเพิร์ธก็กำลังทดลองใช้เครื่องมือไฮเทคอีกตัวหนึ่ง คือ แว่นตาสร้างภาพ 3 มิติ เสมือนจริง โดยสร้างภาพเมืองและสถานที่ท่องเที่ยวจำลอง ช่วยให้ผู้ป่วยมีความรู้สึกเหมือนกับว่าได้ออกไปใช้ชีวิตอยู่นอกสถานบำบัด โดยมีจุดประสงค์เดียวกันกับการใช้หุ่นยนต์พยาบาลในการฝึกทักษะการติดต่อสื่อสารกับสังคม และเปิดโลกให้กับผู้ป่วยมากขึ้น