แชร์โพสนี้
นายกรัฐมนตรี แองเกลา แมร์เคิล ของประเทศเยอรมนี เตรียมเปิดแผนผลักดันผู้ลี้ภัยครั้งใหญ่ที่กำลังหลั่งไหลเข้ามาในสหภาพยุโรปอย่างต่อเนื่อง
ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ประเทศในแถบยุโรปต้องเผชิญกับวิกฤตผู้อพยพที่หลั่งไหลเข้ามาในประเทศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเยอรมนีมีนโยบายเปิดรับผู้อพยพอย่างเสรีจนทำให้ปัจจุบันมีผู้ลี้ภัยเข้ามาประมาณ 890,000 คน จนนำมาซึ่งข้อถกเถียงเรื่องปัญหาการแย่งงานของชาวเยอรมัน และกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ แต่ปัญหาที่เรียกเสียงต่อต้านนโยบายนี้มากที่สุดคือภัยก่อการร้าย
โดยเหตุการณ์ก่อการร้ายที่ตลาดคริสต์มาสในกรุงเบอร์ลินเมื่อปีที่แล้ว นายอานิส อัมรี หนึ่งในผู้อพยพที่ถูกทางการตูนิเซียปฏิเสธให้ลี้ภัยและเป็นผู้ลงมีก่อเหตุนั้น ได้กลายเป็นตัวแปรสำคัญที่สร้างแรงกดดันในการจัดการปัญหาการรับผู้อพยพต่อรัฐบาลเยอรมนีเป็นอย่างมาก ทำให้นางแมร์เคิลต้องเร่งหารือกับเหล่าผู้นำชาติอียูเพื่อกำหนดแนวทางการผลักดันผู้ลี้ภัยให้เร็วขึ้น แผนการนี้ยังไม่ได้เปิดเผยอย่างเป็นทางการ แต่สื่อในประเทศรายงานว่า แนวทางการดำเนินงานจะมีประมาณ 16 ข้อ โดยศูนย์กลางการผลักดันผู้อพยพจะตั้งอยู่ที่กรุงเบอร์ลิน
รายงานระบุด้วยว่า รัฐบาลเยอรมนีได้ตั้งงบประมาณในปฏิบัติการครั้งนี้ราว 90 ล้านยูโร หรือ ราว 3,360 ล้านบาท ซึ่งงบประมาณส่วนหนึ่งจะนำไปจ่ายให้แก่ผู้ลี้ภัยที่สมัครใจเดินทางกลับประเทศเอง และยังครอบคลุมถึงมาตรการการเข้าถึงโทรศัพท์และซิมการ์ดของผู้ลี้ภัยเพื่อตรวจสอบเอกลักษณ์บุคคลด้วย
ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ อย่าง อิตาลี มีนโยบายที่เข้มงวดกว่าเยอรมนีมาก เช่น ผลักดันผู้อพยพที่ไม่มีสิทธิ์พักอาศัยออกนอกประเทศทันที โดยเปิดศูนย์พักพิงแห่งใหม่ 16 แห่ง เป็นที่พักสำหรับคนที่อยู่ระหว่างรอส่งตัวกลับภูมิลำเนา และเมื่อเดือนธันวาคม กระทรวงกิจการภายในของอิตาลีประกาศว่าจะใช้มาตรการที่รุนแรงขึ้นในการจัดการปัญหาผู้ลี้ภัย โดยจะผลักดันผู้ลี้ภัยที่ไม่ผ่านการคัดกรอง และผู้ที่กระทำผิดกฎหมายกลับประเทศ ซึ่งสถิติการปฏิเสธคำร้องขอสถานะผู้ลี้ภัยในอิตาลีเมื่อปีที่แล้ว มีมากกว่าร้อยละ 60 จากคำร้องเกือบ 124,000 คน เลยทีเดียว