ออกมาตราการเข้มแก้ฝุ่นพิษ ขนส่งฯ ตรวจจับรถควันดำ – อุตุฯ วอนโรงงานงดผลิต 4-6 ก.พ. นี้

วันที่โพส
จำนวนผู้เข้าชม
62 ครั้ง

แชร์โพสนี้

กรมการขนส่งทางบก ตั้งจุดตรวจควันดำ 31 จุด ใน 15 จังหวัด สกัดรถบรรทุกและรถโดยสารสาธารณะควันดำเกินกฎหมายกำหนดห้ามเข้าเขตกรุงเทพมหานคร พบรถควันดำ ลงโทษขั้นสูงสุดปรับ 5,000 บาท พ่นสเปรย์ “ห้ามใช้” ทันที

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังจากการลงพื้นที่ติดตามการปฏิบัติงานตรวจวัดควันดำรถบรรทุกและรถโดยสารสาธารณะ ตามมาตรการลดปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภายใต้นโยบาย One Transport ปลอดฝุ่น PM2.5 ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้สั่งการให้กรมการขนส่งทางบกยกระดับยกระดับความเข้มข้นในการแก้ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2562 เป็นต้นไป และให้ตั้งจุดตรวจควันดำเพิ่มเติมรวม 31 จุด ใน 15 จังหวัด รอยต่อบนถนนสายหลักและสายรองทุกเส้นทางที่มีรถบรรทุกและรถโดยสารมุ่งหน้าเข้ากรุงเทพมหานครเพื่อควบคุมรถที่มีค่าควันดำเกินมาตรฐานจากต่างจังหวัดไม่ให้เข้าสู่กรุงเทพมหานคร โดยให้ดำเนินการต่อเนื่องทุกวัน ดังนี้ ทางหลวงแผ่นดินหมาย 32, ถนนพระราม 2, ถนนเพชรเกษม, ถนนบรมราชชนนี, ถนนสุวินทวงศ์, ถนนพหลโยธิน, ถนนสุขุมวิท, ถนนบางนา-ตราด, ถนนติวานนท์, ถนนลำลูกกา, ถนนรังสิต-นครนายก, ถนนตลิ่งชัน-สุพรรณบุรี, ถนนรังสิต-ปทุมธานี, มอเตอร์เวย์ (ด่านลาดกระบังขาเข้า), ท่าเรือคลองเตย และสถานีขนส่งสินค้าชานเมืองทั้ง 3 แห่ง (ร่มเกล้า, คลองหลวง, พุทธมณฑล)

ทั้งนี้ หากพบรถที่มีค่าควันดำเกินร้อยละ 45 ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด สั่งเปรียบเทียบปรับทันที 5,000 บาท และพ่น “ห้ามใช้” ทันที ส่วนรถที่ตรวจพบค่าควันดำระหว่างร้อยละ 30-45 ให้ผู้ตรวจการออกใบเตือน เพื่อให้เจ้าของรถดำเนินการแก้ไขให้เรียบร้อยก่อนถึงรอบชำระภาษีรถ ทั้งนี้ สำหรับผลการดำเนินการตรวจควันดำรถบรรทุกและรถโดยสารสาธารณะทั้ง 31 จุด ใน 15 จังหวัด เฉพาะช่วงเช้าของวันนี้ (วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2562) เรียกรถเข้าตรวจจำนวนทั้งสิ้น 627 คัน พบรถมีค่าควันดำเกินที่กฎหมายกำหนดจำนวน 39 คัน แบ่งเป็นรถบรรทุก 35 คัน และรถโดยสารสาธารณะ 4 คัน พบมากที่สุดที่บริเวณจุดตรวจถนนสุวินทวงศ์ ขาเข้า, ถนนบางนา-ตราด ขาเข้า โดยให้ดำเนินการต่อเนื่องตลอดทั้งวันทุกวัน

ด้าน นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล กรมการขนส่งทางบกได้ให้ผู้ตรวจการลงพื้นที่สุ่มตรวจค่าควันดำรถบรรทุกและรถโดยสารสาธารณะอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ที่มีค่ามลพิษสูง เช่น พื้นที่ในเขตจตุจักร เขตบางขุนเทียน, บางคอแหลม, สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ และการตรวจค่าควันดำในรถโดยสารเอกชนร่วมบริการ ขสมก. และ บขส. ณ อู่รถโดยสาร ขสมก.ทุกแห่ง อย่างต่อเนื่อง และจะสุ่มตรวจการดำเนินการของสถานตรวจสภาพรถ (ตรอ.) ควบคู่กับการติดตามการทำงานของ ตรอ. อย่างใกล้ชิดผ่านศูนย์ควบคุมระบบตรวจสภาพรถ (VICC) เพื่อการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 เห็นผลเป็นรูปธรรม

นอกจากนี้ ยังได้มอบหมายให้สำนักงานขนส่งจังหวัดทั่วประเทศตรวจวัดควันดำรถโดยสารสาธารณะและรถอื่นๆ ณ สถานีขนส่งผู้โดยสาร บนถนนสายต่างๆ ในเขตพื้นที่รับผิดชอบอย่างเข้มงวด ด้านประชาชนที่พบเห็นรถบรรทุกและรถโดยสารมีควันดำ ให้จดจำรายละเอียดหมายเลขทะเบียนรถ เลขข้างรถ แจ้งศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารและรับเรื่องร้องเรียน โทร.1584 หากผลการตรวจสอบพบว่ารถมีควันดำตามที่ผู้ร้องเรียนได้แจ้งมาจริงจะถูกดำเนินการตามกฎหมายทันที

ด้านนายสุรพล ชามาตย์ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังหารือร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) ผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม และตัวแทนจาก 8 กลุ่มอุตสาหกรรมใน 15 จังหวัด ว่า ที่ประชุมมีมติร่วมกันในการร่วมลดปริมาณการปล่อยมลพิษในภาคอุตสาหกรรม ที่คาดว่ามีสัดส่วนคิดเป็น 5% จากปริมาณฝุ่นทั้งหมด โดยช่วงตรุษจีนระหว่างวันที่ 4-6 กุมภาพันธ์นี้ โรงงานประมาณ 1,300-1,500 โรง ใน 15 จังหวัดทั่วประเทศ จะแสดงความร่วมมือหยุดโรงงาน หรือลดการผลิตลง คิดเป็นสัดส่วน 20-50% คาดว่าจะสามารถลดการปล่อยฝุ่นลงได้ถึง 50%

ทั้งนี้ 1,300-1,500 โรงงาน ใน 15 จังหวัด ประกอบด้วย ปราจีนบุรี สุราษฎร์ธานี ขอนแก่น ราชบุรี สระบุรี สงขลา นครราชสีมา พระนครศรีอยุธยา ฉะเชิงเทรา ระยอง นครปฐม ปทุมธานี ชลบุรี สมุทรสาคร และสมุทรปราการ จากจำนวนโรงงานทั้งสิ้น 2,599 โรง โดยความร่วมมือของภาคอุตสาหกรรมครั้งนี้ กระจายอยู่ใน 8 กลุ่มอุตสาหกรรม ประกอบด้วย เครื่องจักรกลโลหะ โรงหล่อ สิ่งทอ ผลิตภัณฑ์ยาง ปิโตรเคมี รถยนต์ ปูนซิเมนต์ น้ำตาล และผลิตภัณฑ์หนัง

ด้านนายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้ทางภาคอุตสาหกรรมต้องการแสดงความจริงใจในการเป็นส่วนหนึ่งที่ร่วมลดฝุ่น และอยากให้ทุกภาคส่วนของสังคมช่วยกัน ออกมาตรการเพื่อหยุดยั้งสถานการณ์ครั้งนี้ โดยหลังจากนี้หากปริมาณฝุ่นยังเยอะก็จะมีมาตรการอื่นๆต่อไป โดยปัจจุบันนอกจากมาตรการหยุดหรือลดการผลิตแล้ว ส.อ.ท.ได้ประสานให้โรงงานใช้เครื่องมือออนไลน์ อาทิ การประชุมผ่านวีดิโอคอนเฟอร์เรนซ์ การตรวจเช็คสภาพเครื่องยนต์ในระบบโลจิสติกส์

สำหรับมาตรการระยะยาวจะเพิ่มจำนวนโรงงานที่ร่วมหยุดหรือลดการผลิตให้มากขึ้นกรณีที่พบว่าค่าฝุ่นมีปริมาณสูง การสนับสนุนให้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า(อีวี) และผลักดันการติดตั้งเครื่องมือกำจัดฝุ่น

ข่าววันใหม่
  • ให้คุณทันข่าว ทันกระแส ทันที ในครอบครัว
  • ช่อง3 : HD 33
  • วันเเละเวลาออกอากาศ : จ.-ศ. เวลา 05.55 – 02.15 น. เเละ ส.-อา.เวลา 01.10-02.15 น.